ปัญหาการสืบราชบัลลังก์ และวาระสุดท้ายของเว่ย์ จื่อฟู ของ เว่ย์ จื่อฟู

เมื่อมีพระชนม์มากขึ้น จักรพรรดิฮั่นอู่ทรงระแวงจะมีผู้ใช้คุณไสยต่อพระองค์ จึงทรงให้ไต่สวนเป็นการใหญ่ ทำให้ขุนนางผู้ใหญ่หลายคนถูกประหารทั้งตระกูล ข้อหวาดวิตกเรื่องคุณไสยนี้ยังนำไปสู่ปัญหาการสืบราชสมบัติ ทั้งนี้ จักรพรรดิฮั่นอู่ทรงมีสัมพันธ์กับสตรีที่เรียก จ้าวเจี๋ย-ยฺหวี จนนางตั้งครรภ์ 14 เดือนและประสูติองค์ชายหลิว ฝูหลิง ให้แก่พระองค์ใน 94 ปีก่อนคริสตกาล อันเป็นเวลาที่พระองค์มีพระชนม์ 62 ชันษาแล้ว ทำให้พระองค์ทรงยินดียิ่งนัก การตั้งครรภ์ 14 เดือนเหมือนตำนานของพระเจ้าเหยา (堯) เป็นเหตุให้จักรพรรดิฮั่นอู่ทรงเรียกขานนางว่า เหยาหมู่เหมิน (堯母門; “ประตูแม่เหยา”) จึงเกิดข่าวลือว่า จักรพรรดิจะถอดหลิว จฺวี้ โอรสของเว่ย์ จื่อฟู ออกจากตำแหน่งรัชทายาท แล้วตั้งหลิว ฝูหลิง ขึ้นเป็นรัชทายาทแทน ไม่มีหลักฐานยืนยันเกี่ยวกับการสับเปลี่ยนตามข่าวนี้ แต่ผู้สนับสนุนหลิว ฝูหลิง ก็พากันวางแผนให้เกิดขึ้นจริง หนึ่งในนั้น คือ เจียง ชง (江充) ขุนนางกฎหมาย ที่ผิดใจกับหลิว จฺวี้ หลังจากจับกุมคนของหลิว จฺวี้ ในข้อหาใช้ทางหลวงโดยมิชอบ แล้วเกรงว่า หลิว จฺวี้ จะเอาคืนเมื่อขึ้นครองราชย์ อีกคนหนึ่ง คือ ซู เหวิน (蘇文) หัวหน้าขันทีของจักรพรรดิฮั่นอู่ ซึ่งเคยกล่าวหาเท็จว่า หลิว จฺวี้ กระทำชู้กับนางกำนัล

แผนการเหล่านี้นำไปสู่การจับกุมและไต่สวนเมื่อ 91 ปีก่อนคริสตกาล หนึ่งในผู้ถูกไต่สวน คือ ขุนพลกงซุน อ้าว (公孫敖) ซึ่งเป็นพี่เขยหรือน้องเขยของเว่ย์ จื่อฟู พร้อมบุตรชาย ที่สุดแล้ว ขุนพลและบุตรชายปลิดชีพตนเองในเรือนจำ ส่วนคนที่เหลือในตระกูลก็ถูกประหารสิ้น โดยไม่มีคำอธิบายใด ๆ นอกจากนี้ บุคคลอื่น ๆ ในตระกูลเว่ย์ และผู้เกี่ยวข้อง เช่น เว่ย์ คั่ง (衛伉) บุตรชายคนโตของเว่ย์ ชิง ถูกกล่าวหาว่า มีส่วนในการใช้คาถาอาคมในราชสำนัก และถูกประหาร ทำให้ตระกูลเว่ย์แทบจะพ้นไปจากอำนาจทางการเมือง ครั้นแล้ว เจียง ชง กับซู เหวิน ก็กล่าวหาหลิว จฺวี้ ด้วยเรื่องเวทมนตร์คาถาเช่นกัน จักรพรรดิฮั่นอู่ซึ่งเวลานั้นแปรพระราชฐานไปตำหนักฤดูร้อนในกานเฉวียน (甘泉) ทรงให้เจียง ชง กับซู เหวิน จัดการ ทั้งสองบุกค้นทั่วพระราชวัง แล้วแถลงว่า พบหลักฐานมั่นคงบ่งบอกถึงความผิดขององค์ชายหลิว จฺวี้ ฉือ เต่อ (石德) พระอาจารย์ของหลิว จฺวี้ จึงทูลแนะนำให้หลิว จฺวี้ ชิงยึดอำนาจก่อนจะถูกเล่นงาน เดิมที หลิว จฺวี้ ไม่ประสงค์จะก่อกบฏ แต่เลือกจะเดินทางไปตำหนักที่กานเฉวียนเพื่อทูลอธิบายเรื่องราว แต่เมื่อพบว่า เจียง ชง ส่งคนไปทูลตัดหน้าแล้ว หลิว จฺวี้ ก็ตกลงปฏิบัติตาม โดยปลอมราชโองการของจักรพรรดิฮั่นอู่ไปจับกุมเจียง ชง และพรรคพวกทั้งสิ้น แต่ซู เหวิน หลบหนีไปได้ จากนั้น หลิว จฺวี้ นำผู้ถูกจับกุมมารายงานต่อเว่ย์ จื่อฟู และเว่ย์ จื่อฟู เลือกสนับสนุนลูกมากกว่าสวามี จึงสั่งให้หลิว จฺวี้ นำทหารองครักษ์ของนางไปสู้กับฝ่ายตรงข้ามได้

ขณะนั้น ซู เหวิน หนีไปถึงตำหนักกานเฉวียน และทูลจักรพรรดิฮั่นอู่ว่า รัชทายาทหลิว จฺวี้ เป็นกบฏ จักรพรรดิไม่ทรงเชื่อ และทรงเรียกหลิว จฺวี้ ให้มาเข้าเฝ้าอธิบาย แต่ขันทีนำสารไม่กล้าเดินทางไปพระนครฉางอานเพื่อเรียกหลิว จฺวี้ ตามรับสั่ง และกลับไปทูลความเท็จต่อจักรพรรดิว่า หลิว จฺวี้ กำลังจะมาฆ่าพระองค์อยู่แล้ว จักรพรรดิจึงทรงให้อัครมหาเสนาบดีหลิว ชูหลี (劉屈犛) นำกำลังไปปราบกบฏ ฝ่ายหลิว ชูหลี กับฝ่ายหลิว จฺวี้ ปะทะกันกลางพระนครฉางอานกว่าห้าวัน และหลิว ชูหลี มีชัยชนะ หลิว จฺวี้ จึงหนีออกจากพระนครไปพร้อมกับบุตรชายทั้งสอง ส่วนคนอื่น ๆ ในครอบครัวถูกจับประหารทั้งหมด ยกเว้นหลิว ปิ้งอี่ หลานชายวัยหนึ่งเดือน ซึ่งถูกกักขังแทน

เมื่อปราบกบฏได้แล้ว จักรพรรดิฮั่นอู่รับสั่งให้ยึดตราประจำแหน่งหฺวังโฮ่วของเว่ย์ จื่อฟู เพื่อเตรียมถอดถอนนางออกจากตำแหน่ง เว่ย์ จื่อฟู ชิงฆ่าตัวตาย ศพของนางบรรจุโลงขนาดเล็กฝังไว้ที่ถงไป๋ (桐柏) สมาชิกคนอื่น ๆ ในตระกูลเว่ย์ถูกกำจัด และรัชทายาทหลิว จฺวี้ ถูกขุนนางท้องถิ่นที่ประสงค์ค่าหัวตามล่าไปจนมุมที่เทศมณฑลหู (湖縣) เมื่อเห็นว่า หนีไม่พ้นแล้ว หลิว จฺวี้ ก็ฆ่าตัวตายตามมารดาไป ส่วนบุตรชายทั้งสองของหลิว จฺวี้ ถูกสังหาร

ใกล้เคียง